ทำไมคะแนนทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยจึงย่ำแย่มาติดกัน 8 ปีแล้ว

images

ดัชนีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษนานาชาติชี้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยยังคง "ย่ำแย่" และอยู่ในระดับเดิมเป็นเวลาถึง 8 ปีซ้อน ด้านผู้เชี่ยวชาญระบุ ความล้มเหลวมาจากการเรียนภาษาอังกฤษยังเน้นการท่องจำเป็นหลัก

ในรายงานประจำปี 2561 ของสำนักงานจัดอันดับทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ หรือ Education First (EF) ที่มีสำนักงานใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่าน มาระบุว่าไทยอยู่ในอันดับ 64 จาก 88 ประเทศทั่วโลกที่ไม่ได้ใช้อังกฤษเป็นภาษาหลัก และได้คะแนนเพียง 48.54 จาก 100 คะแนน

คะแนนทักษะภาษาอังกฤษประเทศอาเซียนปี 2018

ที่มา : EF EPI ทั้งนี้บรูไนกับลาวไม่ได้เข้าร่วมประเมินผลด้วย

เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนแล้ว ไทยได้คะแนนในอันดับที่ 6 จาก 8 ประเทศในอาเซียนที่ทำการสำรวจ เรียงตามลำดับดังนี้คือ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย เมียนมาร์ และ กัมพูชา

ในขณะที่ สวีเดน มีคะแนนสูงสุดในบรรดาประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ส่วนประเทศที่คะแนนน้อยที่สุดก็คือ ลิเบีย

พับเพียบImage copyrightAFP/GETTY IMAGES

ผลจากคะแนนสอบจะนำมาจัดหมวดหมู่เป็น 5 ระดับคือสูงมาก สูง ปานกลาง ต่ำ ต่ำมาก คะแนนของไทยนั้นถูกจัดอยู่ในระดับ "ต่ำ" ซึ่งไทยคงอยู่ในระดับนี้ตั้งแต่ EF ออกรายงานฉบับแรกในปี 2554

นอกจากนี้ EF ยังได้ให้ข้อมูลเปรียบเทียบทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของผู้หญิงว่า คะแนนของผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงมีเฉลี่ย 54.57 และผู้ชาย 52.63 จากผู้ทดสอบทั้งสิ้น 1.3 ล้านคนทั่วโลก โดยคะแนนระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายในไทยก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันนี้ด้วย

การทดสอบดังกล่าวเป็นการทดสอบแบบออนไลน์สำหรับคนทั่วไป โดยวัดผลจากทักษะการฟังและการอ่าน ซึ่ง EF ระบุว่า อาจส่งผลให้ภาพรวมคะแนนออกมามากกว่าปกติ เนื่องจากอาจไม่ได้เข้าถึงกลุ่มคนยากไร้หรือคนที่ไม่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงมาจากภาษาไทยที่อ่อนแอ

ดร.เนตรปรียา ชุมไชโยImage copyrightดร.เนตรปรียา ชุมไชโยคำบรรยายภาพดร.เนตรปรียา ชุมไชโย

ดร.เนตรปรียา ชุมไชโย หรือ "ครูเคท" ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนภาษาครูเคท กล่าวกับบีบีซีไทยว่า พัฒนาการภาษาอังกฤษที่ตกต่ำลงของคนรุ่นใหม่ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาไทยที่อ่อนแอ เนื่องจากภาษาจะเกี่ยวข้องโดยตรงต่อระบบการทำงานของสมอง

"เมื่อใช้ไทยอ่อนด้อย ความลึกซึ้งจะน้อย เมื่อใช้อังกฤษที่มีโครงสร้างที่ชัดเจน ผู้เรียนจะรู้สึกว่ายากจังเลย" เธอกล่าว

"ยิ่งเป็นภาษาไทยรุ่นโบราณจะมีความลึกมาก ลักษณะโครงสร้างภาษาราชการหรือภาษาไทยรุ่นโบราณจะเป็นแพทเทิร์น (รูปแบบ) เดียวกันกับภาษาอังกฤษ แต่ปัจจุบันหนังสือภาษาไทยจะเขียนเป็นประโยคสั้น ๆ เมื่อเทียบกับภาษาอังกฤษ ประโยคยังมีความซับซ้อน เลยทำให้ภาษาอังกฤษใช้ยากยิ่งกว่าเดิม"

ทั้งนี้ เนื่องจากทักษะการอ่านของคนไทยรุ่นใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และเด็กรุ่นใหม่ไม่มีสมาธิที่จะอ่านหนังสือเป็นเวลานาน

อีกสองปัจจัยที่ "ครูเคท"เห็นก็คือ คนไทยไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษ "กลัวพูดผิดแล้วอาย และยิ่งพอเห็นตัวอย่างของคนรุ่นก่อนที่ไม่กล้าพูด แล้วคนรุ่นใหม่ก็ไม่กล้าพูดเหมือนกัน" และความสามารถของครูสอนภาษาอังกฤษก็มีส่วน ปัจจุบันคนที่สอนภาษาอังกฤษเก่งที่สุดนั้น สอนอยู่มหาวิทยาลัย "ซึ่งที่จริงแล้ว ควรจะไปสอนเด็กประถมเพื่อสร้างพื้นฐานให้กับเด็กมากกว่า"

เน้นไวยากรณ์เป็นหลัก

ดร.มินตรา ภูริปัญญวานิชImage copyrightดร.มินตรา ภูริปัญญวานิชคำบรรยายภาพดร.มินตรา ภูริปัญญวานิช

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ได้เสนอการปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้เป็นไปในทางที่เน้นให้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร หรือที่เรียกว่า communicative language teaching

"แต่ในทางปฏิบัติ มันไม่เป็นไปตามนั้น เพราะครูคุ้นชินกับวิธีการสอนที่เน้นโครงสร้างหลักไวยากรณ์เป็นสำคัญ (grammar translation) ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมที่ใช้มาตลอด ไม่ว่าครูจะรุ่นใหม่หรือเก่าก็ตาม" ดร.มินตรา ภูริปัญญวานิช อาจารย์ประจำสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

"ระบบการเรียนการสอน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามุ่งเน้นเพื่อให้เด็กสอบผ่าน แปลว่าวิธีการสอนก็จะเหมือนการติว พอมันเน้นตรงนั้นเมื่อไร มันไม่ได้เน้นกระบวนการฝึกใช้ภาษา ต้องท่อง ต้องจำ"

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้อ้างว่าให้สัมภาษณ์ว่า การเรียนภาษาอังกฤษของไทยที่เน้นที่ความถูกต้องและความจำมากกว่าการสื่อสาร ทำให้นักเรียนไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เขายอมรับว่า แม้คนไทยจะเรียนภาษาอังกฤษเป็นเวลา 12 ปี ในชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา แต่เมื่อจบออกมาแล้ว ส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคหลักในการแข่งขันระดับนานาชาติ

สถาบันภาษาอังกฤษ ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีหน้าที่จัดทำข้อเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาการเรียนการสอนและการใช้ภาษาอังกฤษในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย ณ เวลาที่ตีพิมพ์บทความชิ้นนี้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : BBC