กระทรวงศึกษา วัฒนธรรม การกีฬาและเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น
ได้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็น “หลักสูตรไปสู่สังคม” ในปี พ.ศ.2560
มีเป้าหมายในการพัฒนาคน 3 ข้อ
ประเทศญี่ปุ่นประกาศใช้ “กฎหมายพื้นฐานทางการศึกษา” ฉบับแรกในปี พ.ศ.2490 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นไม่เคยปรับแก้ไขอีกเลย จนมาถึงรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ สมัยที่ 1 ได้มีการปรับปรุงกฎหมายนี้เป็นครั้งแรกและเพิ่งประกาศใช้ใน ปี พ.ศ.2549 โดยจากเดิมมี 11 มาตรา ได้แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาหลายประเด็นเพื่อให้ทันต่อยุคสมัย รวมเป็น 18 มาตรา ซึ่งความสำคัญอยู่ที่ มาตรา 17 ที่กำหนดว่า 1) ให้รัฐ(ส่วนกลาง) จัดทำ “แผนขั้นพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการศึกษา” ขึ้น ซึ่งถือเป็นแผนการศึกษาแผนแรกในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น 2) ให้รัฐบาลท้องถิ่นทุกระดับและเทศบาล นำแนวทางของแผนส่วนกลางในข้อ 1) ไปจัดทำแผนตามบริบทของตน
กระทรวงศึกษา วัฒนธรรม การกีฬาและเทคโนโลยี(MEXT) จึงได้จัดทำ “แผนขั้นพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการศึกษา” (แผนส่วนกลาง) และประกาศใช้เมื่อ พ.ศ.2551 ในยุครัฐบาลอาเบะ สมัยที่ 2 แผนการศึกษานี้มี 3 ฉบับ คือ แผนฯฉบับที่ 1-3 แต่แผนฯที่ชัดเจนและน่าสนใจมากที่สุด คือ แผนฯฉบับที่ 3 เพราะเป็นแผนฯที่ชี้ทิศทางในอนาคตของญี่ปุ่น โดยรัฐบาลคาดหวังจะให้ญี่ปุ่นเป็น “สังคม 5.0” (Society 5.0) ที่มุ่งเน้น “ไอโอที” ( IOT หรือ Internet of Things) คือ “อินเตอร์เน็ตสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง” หมายถึง การที่ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเชื่อมโยงสู่โลกอินเตอร์เน็ต แผนฯนี้จึงส่งเสริมให้ชาวญี่ปุ่นพยายามพัฒนาความรู้และสมรรถนะของตนให้ตอบสนองต่อยุค IOT
และเพื่อให้เกิดภาพในอนาคตดังกล่าว กระทรวงศึกษาฯจึงได้ปรับปรุง “หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน(Course of Study)” ให้เป็น “หลักสูตรไปสู่สังคม” ขึ้นในปี พ.ศ.2560 หลักสูตรใหม่นี้ประกอบด้วยเป้าหมายในการพัฒนาคน 3 ข้อ ได้แก่ 1. ให้ทุกคนมีความรู้และทักษะในการทำงาน/ประกอบอาชีพและดำรงชีวิตอยู่ได้ 2. ให้นำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ โดยปลูกฝังเด็กๆให้มีความสามารถในการคิด ตัดสินใจและแสดงความคิดเห็น 3. ให้มีการเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสังคม ให้อยู่ดีกินดี สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้และหล่อหลอมความเป็นมนุษย์ แผนฯฉบับที่ 3 นั้น เป็นการเปลี่ยนแนวทางการทำงานของคนญี่ปุ่นแต่เดิม กล่าวคือ แต่เดิมมา โรงเรียนแต่ละระดับจะทำงานแต่ในส่วนของตน เช่น เด็กที่เรียนจบชั้นประถม ต้องไปเรียนต่อในโรงเรียนชั้นมัธยมต้น แต่ โรงเรียนทั้งสองระดับไม่ค่อยประสานงานกันเท่าที่ควร ทำให้เด็กมีปัญหากดดันเรื่องการเรียนที่หนักขึ้น ดังนั้น เป้าหมายใหม่ในแผนฯใหม่จึงมุ่งให้เกิด Articulation คือ ทุกหน่วยงานต้องทำงานอย่างร่วมมือกัน มีการประสานเชื่อมโยงกันมากขึ้น เพื่อลดช่องว่างระหว่างระดับชั้น
ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนประถมศึกษาหลายแห่งจึงขยายไปถึงระดับมัธยมต้น คือ สอนตั้งแต่ชั้น ป.1 จนถึงชั้น ม.3 คล้ายๆกับโรงเรียนขยายโอกาสของไทย เพื่อให้เด็กๆได้เรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีในโรงเรียนเดียวกัน ทั้งนี้ โรงเรียนต้องดำเนินการสร้างและปรับหลักสูตรเองให้สอดคล้องกับแนวทางหลักของหลักสูตรแกนกลางที่สำคัญนอกเหนือจากนั้น แผนฯ 3 ยังมุ่งเน้นไปที่ “ผู้สูงอายุ” อีกด้วย เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูป คือ มีประชากรที่อายุ 65 ปีขึ้นไปถึง 27.7% ของประชากรทั้งหมด (สถิติ ณ ตุลาคม 2017) “สังคม 5.0” มุ่งเน้นชีวิตของคนให้ยืนยาวไปจนถึง 100 ปี โดยกำหนดคำว่า “Centenarian” (ยุคของชีวิต 100 ปี) ที่หน่วยงานการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทุกคนสามารถเข้าถึง “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” คือ ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไหร่ หากสุขภาพยังดีอยู่ก็สามารถที่จะเรียนรู้ได้โดยรัฐต้องพยายามจัดการศึกษาให้แก่ผู้สูงอายุในรูปแบบต่างๆมากขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : เดลินิวส์