ความหมายของการให้การปรึกษา
การให้การปรึกษาเป็นกระบวนการ (Process) ที่เริ่มต้นที่การสัมพันธภาพระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยที่ฝ่ายหนึ่งคือผู้ให้การช่วยเหลือหรือที่เรียกว่า ผู้ให้การปรึกษา (counselor: CO) และอีกฝ่ายหนึ่งคือผู้รับการช่วย เหลือหรือที่เรียกว่าผู้รับการปรึกษา (counselee or client: Cl) ผู้ให้การปรึกษาจะใช้คุณสมบัติและทักษะในการกระตุ้นให้ผู้รับการปรึกษาตระหนักรู้ถึงภาวะจิตใจและความคิดของตน สำรวจปัญหาและผลกระทบของปัญหาต่อทั้งความคิด จิตใจ ภาวะอารมณ์ และพฤติกรรมจนเกิดความเข้าใจในปัญหาและสาเหตุ ในที่สุดสามารถจัดการกับปัญหาได้ด้วยตนเองตามศักยภาพที่มีอยู่ หรือ สามารถเผชิญสถานการณที่ยากได้อย่างสงบและผ่อนคลา(สุกมล วิภาวีพลกุล, 2543) รวมทั้งเพื่อที่จะได้รับความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้(Goal Attainment) (King, 1981) และสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขและเต็มประสิทธิภาพ (Peplau, 1952)
ความสำเร็จของการให้การปรึกษาจะปรากฏเมื่อผู้รับการปรึกษาหรือผู้รับบริการ และผู้ให้การปรึกษา หรือ ผู้ให้บริการจะต้องก้าวเข้าสู่กระบวนการให้การปรึกษา (Counseling process) กระบวนการคือสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างผู้รับการปรึกษากับผู้ให้การปรึกษา กระบวนการให้การปรึกษาเริ่มต้นตั้งแต่การพบกัน ในการพบปะกันผู้รับการปรึกษานำความคิด (thought) ความรู้สึก (Feeling) และ ประสบการณ์ชีวิต (Experience) และความรู้เกี่ยวกับความยากลำบาก สิ่งที่ผู้รับการปรึกษานำเข้ามาในกระบวนการผู้รับการปรึกษาถ่ายทอดทั้งในรูปของภาษาพูด (Verbal) และ ภาษาท่าทาง (Non-verbal) ในขณะเดียวกันผู้ให้การปรึกษาแต่ละคนนำทฤษฎี หลักการ และปรัชญา ส่วนตัวเข้ามาในกระบวนการ รวมทั้งนำทักษะการให้การปรึกษาเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งสิ่งที่ผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษานำเข้าสู่กระบวนการการปรึกษานี้รวมเรียกว่า เนื้อหา (Content)
การให้การปรึกษา ในความเป็นจริง สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง ตั้งแต่ในบ้าน ในโรงเรียน ในวัด ในงานเลี้ยง ในการฝึกอบรม ข้างเตียงผู้ป่วย ป้ายรถประจำทาง หรือแม้กระทั่งบนรถประจำทาง โดยมีบรรยากาศตั้งแต่ บรรยากาศของวิชาชีพหรือเป็นวิชาการ บรรยากาศของที่ทำงาน บรรยากาศของสังคมทั่ว ๆ ไป หรือบรรยากาศของความรักความอบอุ่นในครอบครัว ดังนั้นจะเห็นว่า “ การให้การปรึกษา “ เป็นเสมือนสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง ความปรารถนาดี ความตั้งใจที่อยากช่วยเหลือ ต้องการเห็นผู้อื่นก้าวผ่านอุปสรรค ความอึดอัดใจ ความขัดแย้ง และอารมณ์ที่ไม่เป็นสุข โดยการผ่านการฟังอย่างสนใจและตั้งใจ สำหรับการให้การปรึกษาทางพยาบาลสามารถเกิดขึ้นทั้งที่บ้านและในชุมชนในขณะออกเยี่ยมบ้านหรือสำรวจชุมชน ขณะรับผู้ป่วยใหม่ ก่อนเข้ารับการผ่าตัด พูดคุยกับญาติ และอื่นๆ
กระบวนการให้คำปรึกษา
เป็นกระบวนการ การช่วยเหลือที่ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ที่ผู้ให้การปรึกษาเอื้ออำนวยให้ผู้รับบริการการปรึกษาได้เข้าใจถึงปัญหาและรับรู้ถึงศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง และเรียนรู้การจัดการแก้ไขปัญหาหรือสิ่งที่รบกวนจิตใจ ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังรวมทั้งการเอื้ออำนวยให้ผู้รับการปรึกษาได้เรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ว่า ปัญหาหรือสิ่งรบกวนจิตใจยังมิได้รับการแก้ไข
กระบวนการให้การปรึกษา ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่
1. การสร้างสัมพันธภาพ
2. การสำรวจปัญหา
3. การเข้าใจในปัญหา
4. การวางแผนแก้ปัญหา
5. และการยุติการปรึกษา
อ่านตอนที่ 2 : การสร้างสัมพันธภาพ >>>คลิกที่นี่<<<
ขอบคุณข้อมูลจาก : อาจารย์วรรณภา พิพัฒน์ธนวงศ์